นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อรองรับ ระบบสื่อสารต่างๆ และเทคโนโลยี 5G ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)โดย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดย นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2563 ที่อาคาร 9 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการใช้โครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคมและดิจิทัล เพื่อรองรับการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี 5G ที่จะช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนผู้ประกอบการทั่วโลกให้สนใจเข้าร่วมลงทุนใน EEC โดย สกพอ. ร่วมกับ ทีโอที เตรียมความพร้อมให้บริการระบบ 5G เต็มรูปแบบแก่ภาคอุตสาหกรรมและร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนรายอื่นๆ ในลักษณะการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน (Infrastructure Sharing)เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนระหว่างภาครัฐกับเอกชนใช้ทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เป็นการผูกขาดทางธุรกิจ ซึ่งทาง สกพอ. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกการดำเนินงาน พร้อมจัดหาโครงการลงทุนที่เกี่ยวข้อง กับ ทีโอที รวมทั้งส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์หน่วยงานรัฐและเอกชนที่ร่วมโครงการดังกล่าว โดยการดำเนินงานในระยะแรก ด้านพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมบริเวณเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ด้านพัฒนาชุมชนโครงการ เมืองอัจฉริยะบ้านฉาง ในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยทีโอที มีเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และในระยะต่อไปการทำโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเพื่อรองรับระบบสื่อสารรวมถึงเทคโนโลยี 5G จะดำเนินการคู่ขนานไปกับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในพื้นที่ EEC
ทั้งนี้ นายพุทธิพงษ์ ย้ำด้วยว่า เทคโนโลยี 5G เป็นนวัตกรรมสำคัญจะช่วยสนับสนุนและขยายโอกาสการสรรค์สร้างบริการดิจิทัลให้กว้างขวางและครอบคลุมตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความเร็วสูงของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ให้การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ มีความแม่นยำสูงและความผิดพลาดน้อยที่สุด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งจะจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC รวมทั้งสามารถปรับใช้ในด้านอื่นๆ เช่น ด้านสาธารณสุขให้เข้าถึงการบริการรักษาการวินิจฉัยโรคแม่นยำ ด้านการเกษตรเพาะปลูกพืชได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมีมูลค่าสูง เก็บรักษาได้ยาวนาน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นต้น ซึ่งบริการ 5G จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ชุมชนครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรม สร้างงานสร้างโอกาส ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาบริการ 5G ในพื้นที่ EEC อย่างเต็มที่ ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมเชิงพาณิชย์ สามารถต่อยอดบริการและใช้งานได้จริงในเศรษฐกิจระดับมหภาค สอดคล้องกับบทบาทของกระทรวงฯ ในการสร้างความเชื่อมั่นดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้าสู่ประเทศไทยด้วยการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมบนเทคโนโลยี 5G ของภูมิภาค