การเข้าสู่ยุคของดิจิทัลไม่เพียงแต่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนการใช้ชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่ยังมีการนำไปใช้ประยุกต์ใช้กับการศึกษา โดยพลิกโฉมจากการสอนแบบเดิมให้กลายเป็นรูปแบบที่น่าสนใจมากขึ้น และผู้เรียนเองก็ยังสามารถเข้าถึงการเรียนรู้เหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย ผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต
การเรียนรู้ที่ว่านี้คือ ระบบ E-learning สื่อการเรียนรู้ที่ได้ทำลายกรอบการเรียนรู้แบบเดิมๆ และทำให้กลายเป็นการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน
ในบทความนี้มาดูกันว่า E-learning คืออะไร และระบบการเรียนรู้นี้มีความสำคัญกับระบบการศึกษาในอนาคตอย่างไร?
ทำความรู้จักกับ E-learning ว่าคืออะไร
E-learning คือ การเรียนรู้ผ่านผ่านตัวกลางที่เป็นสื่อเทคโนโลยีหรือออนไลน์ ที่ช่วยลดข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่เรียน ผู้สอนสามารถนำเสนอไอเดียการเรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบ และทางผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในเรื่องที่ตนเองต้องการ
อะไรบ้างที่เป็น E-learning เช่น
- คอมพิวเตอร์ช่วยสอน
- การสอนบนเว็บไซต์
- การเรียนออนไลน์
- การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม
ทำไมถึงต้องใช้ระบบ E-learning?
การเรียนรู้ผ่านระบบ E-learning นั้นมีความแตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนแบบเดิมอย่างชัดเจน ที่จากเดิมต้องเรียนในช่วงเวลาตามตารางเรียน และบางครั้งเกิดการรบกวนจากสภาพแว้ดล้อม ทำให้ได้สาระการเรียนรู้ไม่ครบถ้วน การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์จึงเข้ามาช่วยลบข้อเสียในส่วนนี้ ซึ่งได้แก่
เลือกจัดตารางเรียนเองได้
เมื่อสื่อสารเรียนรู้ถูกนำเข้าสู่โลกออนไลน์ ผู้เรียนจึงสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาและจากที่ไหนก็ได้ ทำให้การเลือกเรียนผ่านออนไลน์นั้น ผู้เรียนสามารถเลือกจัดเวลาเรียนด้วยตนเองตามความสะดวกในการเรียนได้เลย
สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น
การเรียนรู้ผ่านระบบ E-learning ถูกปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอหรือการสอนไปได้หลายรูปแบบ เพื่อทำให้ผู้เรียนได้รับความตื่นตาตื่นใจในขณะที่เรียน รวมถึงใส่สื่อช่วยสอนได้หลายประเภท เช่น วิดิโอ เสียง กราฟิก เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้เร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังสามารถใส่ เกม(Gamification) แบบทดสอบ การบ้าน ลงไปในสื่อการสอนออนไลน์เพื่อให้ผู้เรียนนำไปทำเพื่อเพิ่มความเข้าใจในเนื้อหาได้เช่นเดียวกัน
เลือกเรียนซ้ำหรือข้ามเนื้อหาได้
บนสื่อการสอนที่เป็นรูปแบบวิดิโอ มีการแบ่งเนื้อหาตามบทเรียนให้ชัดเจน และทำให้ผู้เรียนสามารถเลือกกลับมาเรียนซ้ำได้ ในกรณีที่ไม่เข้าใจในเนื้อหา หรือสำหรับคนที่เคยเข้าใจในบางส่วนของเนื้อหาแล้วจะสามารถกดข้ามไปเรียนบทอื่นได้
สามารถโต้ตอบกับผู้สอนได้หลายช่องทาง
หนึ่งในสิ่งที่หลายคนกังวลเมื่อต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์คือ การโต้ตอบกับผู้สอนในกรณีที่อยากถามคำถามนั้นทำได้ยาก เพราะบางคอร์สเรียนเป็นรูปแบบวิดิโอที่อัดเอาไว้ ทำให้หลายแหล่งเรียนรู้จัดทำช่องทางให้ผู้เรียนสามารถถามคำถาม หรือแสดงความคิดเห็นกับผู้สอนได้ เช่น ช่องคอมเมนต์ การจัดนัดพูดคุยส่วนตัวระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน
ระบบ E-learning สำคัญต่อระบบการศึกษาอย่างไร?
E-learning เป็นการนำเอกสารการสอนมาปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล จากนั้นจึงนำขึ้นสู่บนเว็บไซต์หรือระบบที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้ ทำให้ระบบการเรียนรู้ผ่านดิจิทัลนี้สามารถทำลายกรอบการเรียนรู้แบบเดิมทิ้งไป ผู้คนไม่จำเป็นต้องเรียนแต่เฉพาะในห้องเรียน แต่สามารถเรียนด้วยตัวเองได้เลย
ตัวอย่างการนำ E-learning ไปใช้ในระบบการศึกษา
เมื่อการเรียนรู้ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้คนสามารถเข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ต มาดูตัวอย่างการนำระบบ E-learning ไปใช้ในรูปแบบของการสอนออนไลน์ที่เกิดประสิทธิภาพต่อผู้เรียนนั้นได้แก่
1. การเรียนรู้กับผู้ใหญ่ในวัยทำงาน
สำหรับการทำงานในวัยผู้ใหญ่นั้น ยิ่งมีอายุหรือตำแหน่งงานที่สูงขึ้น การแบ่งเวลาว่างไปเรียนต่อหรือหาความรู้ในห้องเรียนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สถานศึกษาหลายแห่งรวมถึงสถาบันที่ทำการสอนเฉพาะด้านจึงมีการนำเอา E-learning มาประยุกต์เป็นการเรียนรูปแบบออนไลน์ที่ช่วยให้คนทำงานที่มีเวลาน้อยได้จัดตารางเรียนของตนเองให้เหมาะสม
ซึ่งการสอนในผู้ใหญ่วัยทำงานนั้น เนื้อหาและรูปแบบการสอนต้องไม่เหมือนกับคนทั่วไปหรืออย่างแน่นอน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักมีประสบการณ์ในการทำงานมายาวนาน จึงไม่ได้อยากเรียนรู้แค่เฉพาะเนื้อหาที่จำเป็น แต่พวกเขายังคาดหวังที่จะได้
- การเรียนแบบโต้ตอบการผู้สอน
- กรณีศึกษาจากเคสที่เกิดขึ้นจริง
- เกมการแก้ปัญหา
ไปจนถึงการมีกิจกรรมในการสร้างการเรียนรู้ที่ไม่เพียงการนั่งฟังการอธิบายเพียงอย่างเดียว
2. การเรียนรู้เพื่อปรับใช้ในองค์กร
องค์กรส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ของ E-learning ในการเพิ่มความรู้และสามารถเสริมให้กับพนักงาน ซึ่งมีจุดประสงค์เพิ่มเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานของทั้งคนและองค์กรให้มีการพัฒนาอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ลดต้นการเทรนนิ่งของพนักงานและหันไปใช้ระบบการเรียนรู้บนออนไลน์แทน
โดยการเรียนรู้จะมีเนื้อหาที่เฉพาะเจาะจงไปตามลักษณะการทำงานของแต่ละหน่วยงาน และผู้ที่ทำการสอนนั้นก็เป็นคนในวงการนั้นโดยเฉพาะ เช่น
- การใช้งาน Microsoft Office
- การตลาดออนไลน์
- การออกแบบพื้นฐาน
เมื่อเรียนจบแล้วผู้เรียนสามารถนำเอาความรู้นั้นไปใช้ในสายงานได้จริง นอกจากนี้บุคคลทั่วไปที่ต้องการทำงานในสายงานที่ไม่เคยทำมาก่อน การเข้าเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ก่อนก็ช่วยเพิ่มโอกาสในการเปลี่ยนสายงานได้เช่นกัน
3. การศึกษาในระบบออนไลน์ของสถานศึกษา
สถานศึกษาหลายแห่งได้นำ E-learning ไปใช้สำหรับการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้แบบออนไลน์แล้ว เห็นได้จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีการเปิดให้คนที่สนใจเรียนต่อในสายที่ตนเองสนใจ สามารถลงทะเบียนเป็นผู้เรียนในหลักสูตรออนไลน์ได้
ซึ่งการเรียนในรูปแบบออนไลน์นี้ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถแบ่งเวลาเองได้ รวมถึงคนที่ต้องการทำงานไปด้วยและเรียนต่อไปด้วยก็สามารถทำได้สะดวกมากขึ้น
ทิศทางของการเรียนผ่านระบบออนไลน์ในอนาคต
ในอนาคตการเรียนรู้ผ่านรูปแบบออนไลน์จะเติบโตไปอีกหลายเท่าตัว เนื่องจากสถานศึกษา องค์กร และผู้เรียนออนไลน์ทั่วโลกได้เริ่มให้ความสำคัญกับการเรียนรู้บนโลกออนไลน์มากขึ้น ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และรวดเร็วผ่านอุปกรณ์ที่มีอยู่ที่บ้าน
ซึ่งในขณะนี้เองการเรียนรู้บนออนไลน์มีให้เลือกเรียนได้หลากหลายหัวข้อ ผู้คนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ เมื่อเรียนจบแล้วก็ได้รับเป็นใบประกาศที่ยืนยันว่าผู้เรียนได้ผ่านการเรียนรู้ในเรื่องเหล่านั้นมาแล้ว และความรู้เหล่านั้นก็สามารถนำมาใช้ได้จริงๆ ในการทำงานรวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันได้
ทำให้ในอนาคตการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์หรือ E-learning จะสามารถเติบโตและกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถเลือกหาความรู้ได้อย่างอิสระ โดยสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ ทุกเวลา เพียงเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต